1. ประวัติของสถานศึกษา
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร เป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีความเป็นมาตั้งแต่จัดตั้งจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2520 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมยโสธร สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาลัยจึงถือเอาวันก่อตั้งครั้งแรก
คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เป็นวันสถาปนาวิทยาลัย
– ปีการศึกษา 2522 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ. 4) จำนวน 120 คน และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2520(ปวช. 20)จำนวน 35 คน
– ปีการศึกษา 2524 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส. เกษตรกรรม) วันที่ 28 กันยายน 2524 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมยโสธร
– ปีการศึกษา 2525 เปิดสอนหลักสูตรพิเศษอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมระยะสั้น สำหรับเกษตรกรทั่วไป
– ปีการศึกษา 2526 เปิดสอนหลักสูตรพิเศษอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมเคลื่อนที่
– ปีการศึกษา 2527 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท. เกษตร กรรม)
– ปีการศึกษา 2528 เปิดสอนตามโครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาในชนบท (อศ.กช.)
– ปีการศึกษา 2536 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชา บริหารธุรกิจ (สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาการบัญชี)
– วันที่ 12 กันยายน 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเมืองยศ ในวิทยาลัยเกษตรกรรมยโสธร
– ปีการศึกษา 2538 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาวิชาพณิชยการ
– วันที่ 26 กันยายน 2539 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร
– ปีการศึกษา 2540 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างยนต์
– ปีการศึกษา 2542 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระบบทวิภาคี สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (กลุ่มวิชาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ และประมง)
– ปีการศึกษา 2545 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ระบบทวิภาคี สาขาวิชาประมง
– ปีการศึกษา 2556 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระบบทวิภาคี สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก
ปัจจุบันวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตร หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2556 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2557 และหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต พ.ศ.2558 จัดการเรียนการสอนในระบบปกติ ระบบทวิภาคี (DVT) โครงการ อศ.กช. และโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
2. ขนาดและที่ตั้ง
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร มีพื้นที่ 604 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา ตั้งอยู่บ้าน ปอแดง หมู่ 2 ตำบล บากเรือ อำเภอ มหาชนะชัย จังหวัด ยโสธร รหัสไปรษณีย์ 35130 อยู่ห่างจากอำเภอเมืองยโสธร ประมาณ 35 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ระหว่างอำเภอคำเขื่อนแก้วและอำเภอมหาชนะชัย ตามเส้นทางยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-มหาชนะชัย ห่างจากอำเภอคำเขื่อนแก้ว ประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอมหาชนะชัย ประมาณ 6 กิโลเมตร
2.1 แผนที่ ที่ตั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร
2.2 วิทยาลัยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
2.2.1 ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านปอแดง ต. บากเรือ อ. มหาชนะชัย จ. ยโสธร
2.2.2 ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านราชมุนี อ. มหาชนะชัย จ. ยโสธร
2.2.3 ทิศใต้ ติดต่อกับลำน้ำสาธารณะห้วยเกลี้ยง
2.2.4 ทิศตะวันตก ติดต่อกับสถานีวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดยโสธร
3. ตราประจำสถานศึกษา
ตราของวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยียโสธรเป็นตราที่มีลักษณะเป็นวงกลมที่ 2 ชั้นภายในวงกลมกรอบรอบนอก มีข้อความเขียนว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาตามแนวโค้งของเส้นวงกลมภายในวงกมลชั้นในเป็นรูปเสมาธรรมจักรและมีตัวอักษรเขียนว่า ทุ.ส. นิ.ม.ซึ่งมาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจ ๔ แปลว่า สัจจะของผู้ประเสริฐ ประกอบด้วย
ทุกข์ (ทุ.) ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความเป็นทุกข์อันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในตัวเอง
สมุทัย (ส.) เหตุแห่งความเป็นทุกข์ อันเนื่องด้วยความดิ้นรนทะยานอยาก
นิโรธ (นิ.) ความดับทุกข์ ดับตัณหา ดับความขัดแย้งในตัวเอง ดับความดิ้นรนทะยานอยาก
มรรค (ม.) ทางปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการดับทุกข์เรียกว่า อริยมรรค ๘ ได้แก่ความเห็นชอบกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ จิตชอบ ระลึกชอบ เป็นต้น
4. สีประจำสถานศึกษา
สีที่เป็นสัญลักษณ์ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร คือ สีน้ำเงินกับสีแดง
สีน้ำเงิน หมายถึง ความหนักแน่น อดทน สุขุม รอบคอบ
สีแดง หมายถึง ความเสียสละความกล้าหาญ
สีน้ำเงินกับสีแดง มีความหมายว่า ชาววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธรเป็นคนที่มีความกล้าหาญคิดด้วยความสุขุมรอบคอบ เพื่อริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ กล้าเผชิญปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ด้วยความหนักแน่น อดทน เพื่อช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
5. ต้นไม้ประจำสถานศึกษา
ต้นไม้มงคลประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร คือ ต้นมะตูม